11.11.2556

เกณฑ์น้ำหนักตัวมาตราฐานของเจ้าตัวเล็กตั้งแต่ 20 wk- 40wk


หลัง 14 สัปดาห์ไป หมอจะไม่ค่อยวัดความยาวของเด็กแล้วค่ะ
แต่จะวัดค่าอื่นๆหลายๆอย่าง แล้วคำนวนออกมาเป็นน้ำหนักเด็กแทนนะคะ :)
@หมอบาส


ตารางในรูปที่ให้ไว้จะเป็นค่าคร่าวๆของเด็กไทย (ข้อมูลดัดแปลงมาจากตารางของที่จุฬานะคะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ)

การที่เด็กคนนึงจะใหญ่จะเล็กมีหลายปัจจัยมากๆค่ะ ที่นอกเหนือจากอาหารการกินของแม่ เช่น
- พันธุกรรม : ถ้าพ่อแม่เป็นคนร่างเล็ก ลูกก็มักจะเล็กด้วย
- เพศ : เด็กผู้ชายมักจะตัวโตกว่าเด็กผู้หญิง
- ความพิการแต่กำเนิดบางอย่าง โครโมโซมที่ผิดปกติหรือโรคทางพันธุกรรมบางชนิด อาจทำให้เด็กตัวเล็กได้
- ความผิดปกติของรก หรือสายสะดือ
- โรคที่แม่เป็น เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ
- การติดเชื้อบางอย่างในขณะตั้งครรภ์ 

การดูแลรักษาและความอันตรายก็จะขึ้นอยู่กับสาเหตุค่ะ
โดยทั่วไปถ้าตรวจพบเด็กตัวเล็กกว่าเกณฑ์ 
หมอก็จะตรวจหาความพิการต่างๆ เท่าที่อายุครรภ์ขณะนั้นจะดูได้
อาจพิจารณาตรวจโครโมโซมเด็ก / ตรวจการติดเชื้อบางชนิด
ขึ้นอยู่กับลักษณะทางอัลตราซาวน์ที่ตรวจพบและประวัติที่ได้

แต่ส่วนใหญ่ของเด็กที่ตัวเล็ก มักเป็นจากสาเหตุที่รก ซึ่งอาจสัมพันธ์กับโรคในคุณแม่ด้วย
การขุนทานอาหารเพิ่มเข้าไปเยอะๆในกรณีนี้ก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ถ้าแม่น้ำหนักดีอยู่แล้ว

อันตรายของการที่เด็กตัวเล็ก โดยไม่มีความพิการร่วมด้วยนั้น ร้ายแรงที่สุดก็คือการเสียชีวิตในครรภ์
ถัดมาคือการต้องคลอดก่อนกำหนด และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นในช่วงหลังคลอด ซึ่งอาจมีผลต่อในระยะยาว

ความสำคัญของการดูแลเด็กกลุ่มนี้ จะเป็นการติดตามตรวจสุขภาพ 
เพื่อที่จะตัดสินใจให้เด็กคลอดภายในเวลาที่เหมาะสม คือไม่เร็วเกินไปจนเด็กเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดก่อนกำหนดที่รุนแรง แต่ก็ไม่ช้าจนเด็กเสียชีวิตในครรภ์ไปซะก่อน

รายละเอียดของการตรวจต่างๆ และการกำหนดช่วงเวลาที่จะคลอด รวมถึงวิธีการคลอดนั้น
ก็จะต้องพิจารณาเป็นรายๆไป คนที่จะบอกได้ดีที่สุด ก็คือคุณหมอที่ดูแลค่ะ

ส่วนเด็กที่ตัวใหญ่กว่าเกณฑ์ มักพบในคุณแม่ที่อ้วนๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นเบาหวานแล้วคุมไม่ดี
อันตรายของกลุ่มนี้ ก็จะต่างกันนิดหน่อย โดยถ้าแม่เป็นเบาหวาน ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดทารกเสียชีวิตในครรภ์
การคลอดติดไหล่ ซึ่งก็อาจมีอันตรายต่อเด็กในระยะยาว
นอกจากนี้เด็กกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มจะโตมาเป็นเด็กอ้วน และมีเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง
มีปัญหาสุขภาพในระยะยาวเช่นกัน

จะเห็นว่าเด็กตัวเล็กไป ใหญ่ไปก็ไม่น่าจะดีทั้งนั้นเลยนะคะ
ถ้าให้ดีที่สุด คุณแม่ก็ควรจะเตรียมร่างกาย เช็คตัวเองให้พร้อมก่อนท้อง และฝากครรภ์ให้เร็ว
เพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาให้มากที่สุด
แต่บางอย่างที่เหนือการควบคุม ถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว ก็เพียงติดตามดูแลกับคุณหมอที่ฝากครรภ์อย่างเคร่งครัด
ส่วนใหญ่ผลการตั้งครรภ์ก็มักจะโอเคค่ะ 

@หมอบาส

Credit : https://www.facebook.com/Drnextdoor?fref=ts