11.11.2556

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการบล็อคหลัง


Credit : http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2008/12/N7306665/N7306665.html เขียนโดย คุณหมูเหมียว
    มีผู้หญิงบางท่านกลัวการคลอดลูกมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าคลอดหรือคลอดเอง บางคนกลัวจนตัดใจไม่ขอมีลูกไปเลยก็มี  แน่นอน ... เราอาจจะโดนขู่ว่า ไม่มีใครตายจากการทนความเจ็บในการคลอดไม่ไหวหรอกน่า ...แต่จริงๆแล้วปัจจุบันมีวิธีการระงับปวดที่ดี เราไม่จำเป็นต้องทนกับความเจ็บปวดมากมายนั้นอีกแล้วค่ะ 

    กรณีคลอดเอง 

    สามารถให้ยาระงับความเจ็บปวดได้ทั้งการฉีดและการบล็อคหลัง

    1. การฉีดยาแก้ปวด - โดยมากหมอสูติมักจะเป็นผู้สั่งยาฉีดเองค่ะ ยาที่นิยมก็จะเป็นยากลุ่มมอร์ฟีน เช่น pethidine ค่ะ ข้อดีก็คือ ออกฤทธิ์ได้เร็ว ฉีดเข้าทางน้ำเกลือได้เลย ข้อเสียก็คือ มีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ และสามารถผ่านทางรกไปยังลูกน้อย มีผลกดการหายใจ ทำให้ลูกร้องไม่ดัง ตัวอ่อนปวกเปียกได้ 

    2. การบล็อคหลัง - ซึ่งมาแรงสุดๆในช่วงหลังๆ 
    การคลอดธรรมชาติโดยการบล็อคหลังด้วย เรียกว่า painless labour จะทำโดยวิสัญญีแพทย์จะใส่สายเล็กๆ (เล็กกว่าสายน้ำเกลือมากๆ ) เข้าไปในช่องเหนือไขสันหลัง เพื่อระงับความปวดระหว่างคลอด มีข้อดีก็คือคุณแม่ไม่ต้องทนกับความเจ็บปวดที่มากมาย ได้การระงับปวดที่พอเพียง และแทบไม่มีผลต่อลูกเลย เทียบกับการให้ยาแก้ปวดฉีดทางเส้นเลือดมักไม่เพียงพอที่จะระงับปวดและมีฤทธิ์กดการหายใจของลูกค่ะ 

    การบล็อคจะทำเมื่อปากมดลูกเปิดประมาณ 3ซม. ถ้าบล็อคเร็วกว่านี้จะทำให้การดำเนินการคลอดล่าช้าไปได้ วิธีการคือให้คุณแม่นอนตะแคงงอตัวเหมือนกุ้ง จะเจ็บตอนฉีดยาชา จากนั้นก็จะตึงๆตอนใส่สาย เจ็บมากน้อยก็ขึ้นกับสรีระคุณแม่ว่าบล็อคง่ายหรือยาก ความชำนาญของหมอดมยา ที่มักจะใส่สายก็เพราะการคลอดกินเวลานาน ฉีดยาครั้งเดียวมักจะไม่พอ พอใส่สายแล้ว จะให้ยาชาอ่อนๆทางสายอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้คุณแม่ก็มักจะสบาย นอนอ่านหนังสือเล่นๆรอคลอดได้ 

    การบล็อคนี้ จะให้ดีควรจะใส่ยาชาอ่อนๆ บล็อคแต่ความรู้สึกเจ็บ (sensory)  คุณแม่จะยังขยับขาได้ ไม่ได้บล็อคเหมือนการผ่าคลอดที่จะใช้ยาชาแรงกว่าทำให้เป็นอัมพาตท่อนล่างไปเลย เหตุผลเพราะต้องการให้คุณแม่ยังมีแรงเบ่งอยู่ ดังนั้นเวลามีการหดตัวของมดลูกจะยังรู้สึกตึงๆอยู่ แต่ไม่เจ็บ สามารถเบ่งคลอดเองได้ ถามว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าปากมดลูกเปิดเต็มที่แล้ว ก็จะมีการตรวจภายในเป็นระยะๆ ค่ะ แล้วตอนปากมดลูกเปิดเต็มที่นั้น เราจะยังมีความรู้สึกอยากเบ่งอยู่ แต่อาจเบ่งได้ไม่ดีเท่าคนที่ไม่ได้บล็อค เพราะมันไม่ค่อยเจ็บ แต่ก็สามารถเบ่งเองได้โดยฟังจังหวะจากหมอหรือพยาบาล ถ้าเบ่งไม่ได้จริงๆ หมอก้จะใช้เครื่องมือช่วยทำคลอดให้ค่ะ ไม่ต้องกังวล 

    มีการศึกษาวิจัยอย่างมากมายเรื่องการทำ  painless labour นี้ พบว่าไม่มีผลเสียต่อลูกในท้องอย่างมีนัยสำคัญค่ะ มีบางงานวิจัยบอกเหมือนกันว่า อาจจะทำให้ลูกน้อยซึม ดูดนมช้า แต่ก็เจอน้อยมากๆๆ ข้อดีก็คือ คุณแม่ไม่ต้องทนกับความเจ็บปวด สามารถลดอัตราการผ่าคลอดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ข้อเสียก็คือ ต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอดมากกว่าปกติ เพราะคุณแม่มีแรงเบ่งไม่พอค่ะ 

    ปกติการทำ painless labour ในรพ.รัฐ ไม่ได้ทำทุกรายค่ะ เพราะวิสัญญีแพทย์มีไม่เพียงพอ  จะทำในเคสที่มีการร้องขอจากสูติแพทย์ เวลาทำต้องดูแลใกล้ชิด คอยปรับยาจนกว่าจะคลอดค่ะ แต่ในรพ.เอกชนรู้สึกจะมีเป็นแบบแพคเกจ สามารถร้องขอได้ค่ะ

    แต่อย่างที่บอกค่ะว่า painless ไม่ใช่ painfree ค่ะ ในบางคนการตอบสนองต่อความเจ็บไม่เท่ากัน ใช้ยาเท่ากันก็เจ็บไม่เหมือนกัน  ดิฉันก็เคยบล็อคแล้วรู้สึกว่ายังเจ็บอยู่ แต่พอท้องสองบล็อคไม่ทันรู้เลยว่า เจ็บท้องจริงๆมันเจ็บมากๆๆๆๆค่ะ  กรณีถ้าเราบล็อคแล้วยังเจ็บอยู่ให้หมอหมอวิสัญญีได้ค่ะ จะได้เพิ่มยาให้หรือดูว่าสายที่ใส่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือเปล่า

    รูปการใส่สาย ในการทำ painless labour 
    กรณีต้องผ่าคลอด 

    ชนิดของการระงับความรู้สึกแบ่งง่ายๆเป็น

    1.General คือการะงับความรู้สึกทั้งร่างกาย หมดสติ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "การดมยาสลบ" นั่นแหละค่ะ 

    2.Regional คือการระงับความรู้สึกของร่างกายเฉพาะที่ เฉพาะอวัยวะหรือส่วนของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น คุณแม่ยังคงมีสติ หรือกึ่งมีสติอยู่  อันนี้ก็รู้จักกันในแง่ของการบล็อคหลังค่ะ 


    การดมยาสลบ จริงๆแล้วไม่ได้ "ดม" จนสลบหรอกค่ะ วิธีที่นิยมคือ ฉีดยาเข้าเส้นน้ำเกลือให้สลบไม่รู้สติ (มีการใช้ยาร่วมกันหลายอย่าง ได้แก่ ยาแก้ปวด ยาดมสลบผ่านทางเครื่องช่วยหายใจ ยาหย่อนกล้ามเนื้อ) ระหว่างที่หลับก็จะมีการวัดสัญาณชีพโดยใช้เครื่องอิเลคโทรนิคส์ตลอดค่ะ 



    ขั้นตอนในการดมยาสลบ เพื่อเป็นการลดยาที่จะผ่านจากแม่ไปสู่ลูกน้อยให้มากที่สุด ก็จะมีการเตรียมเครื่องมือให้พร้อมก่อน ฟอกน้ำยาทำความสะอาดหน้าท้อง  ปูผ้าเตรียมผ่าตัดแล้วจึงฉีดยาให้สลบค่ะ 

    วิธีนี้มีข้อดีคือ สามารถทำได้รวดเร็ว คุณแม่ไม่รู้สึกตัว จึงไม่กลัว แต่ข้อเสียก็มีมาก คือ มีโอกาสใส่ท่อช่วยหายใจไม่ได้ ทำให้ขาดออกซเจนทั้งคุณแม่และลูก  เสี่ยงที่จะสำลักเศษอาหารและน้ำเข้าไปในปอด และยาดมสลบรวมทั้งยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีนมีโอกาสผ่านไปยังลูกทำให้ลูกร้องไม่ดังได้ค่ะ


    การบล็อคหลัง  นิยมทำ Spinal Anesthesia  เป็นการระงับความรู้สึกแบบเฉพาะที่ที่ทำได้โดยฉีดยาชาไปรอบๆบริเวณไขสันหลัง (Subarachnoid Space) ดังนั้นความรู้สึกเจ็บปวดที่จะส่งผ่านไขสันหลังขึ้นไปจะถูกบล็อกก่อนที่จะขึ้นไปถึงสมอง จึงทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด และไม่สามารถขยับร่างกายท่อนล่างได้

      หรือถ้าทำ painless labour อยู่แล้ว ก็อาจจะเติมยาชาเพิ่มทางสาย ทำให้สามารถผ่าตัดได้เช่นกัน 

        วิธีนี้ เมื่อคุณแม่มาถึงหลังจากให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเร็วๆ ติดเครื่องวัดสัญญาณชีพแล้ว จะให้นอนคะแคงเป็นกุ้งเลยค่ะ เพื่อเปิดช่องกระดูกสันหลังให้มากที่สุด อาจจะอึดอัดทุลักทุเลหน่อยนะคะ เพราะท้องโต แต่ก็แค่อึดใจเดียวค่ะ หลังจากนั้นจะให้นอนหงายและทดสอบการชาก่อนจะฟอกน้ำยาที่หน้าท้องและคุณหมอสูติผ่าตัดค่ะ 

          ถ้าบล็อคได้ดีจะไม่เจ็บแน่นอนค่ะ  อาจจะจุกๆตอนกดมดลูกดันน้องออก หลังจากชื่นชมลูกแล้ว จะขอยานอนหลับก็ได้ค่ะ 

            ข้อดีของการบล็อคหลังคือ เป็นการใช้ยาเฉพาะที่ ทำให้ไม่มีผลต่อลูก ไม่ต้องเสี่ยงต่อการใส่ท่อช่วยหายใจยากหรือสำลักอาหาร คุณแม่มีส่วนร่วมในการคลอด ได้เห็นได้กอดลูกเป็นคนแรกด้วยค่ะ

              ผลข้างคียงของการบล็อคหลัง อาจจะมีความดันต่ำ หัวใจเต้นช้าได้ แต่จะมีการวัดการเต้นของหัวใจ ความดันดลหิตอยู่ตลอดค่ะ สามารถแก้ไขได้ อีกอย่างการบล็อคสูงเกินไป อาจจะทำให้คุณแม่อึดอัด หายใจไม่สะดวกได้ 

                หลังผ่าตัดจะชาไปอีกประมาณสองชั่วโมงค่ะ โดยมากมักจะใส่ยาแก้ปวด(มอร์ฟีน) ผสมเข้าไปในยาชาด้วย การออกฤทธิ์ของมอร์ฟีนที่ไขสันหลังจะทำให้ไม่ปวดแผล (หรือปวดน้อยกว่าไม่ใส่มาก) ไปเป็นวันเลยค่ะ แต่ผลข้างเคียงของมอร์ฟีน คือ ทำให้คลื่นไส้อาเจียน คันตามตัวได้ ซึ่งจะมียาแก้ฤทธิ์พวกนี้ค่ะ 
                ไม่ได้น่ากลัวแบบนี้นะคะ อิอิ 


                ผ่าคลอดจะดมยาสลบหรือบล็อคหลังดี 


                ในกรณีที่ไม่เร่งด่วนเช่น ตกเลือดมาก เด็กขาดออกซิเจน หมอดมยาจะแนะนำให้บล็อคหลังค่ะ  เพราะจะได้ไม่มีผลจากยาสลบจากแม่ไปยังลูกและอื่นๆ คือ ไม่ต้องเสี่ยงกับการใส่ท่อช่วยหายใจยาก การสำลักน้ำและอาหาร ถ้ามีภาวะเร่งด่วนดังกล่าวมักดมยาสลบให้ เพราะเป็นวิธีที่รวดเร็วกว่า 

                การบล็อคหลังนั้น ถ้าลูกออกแล้วจะร้องขอยานอนหลับก็ได้ค่ะ (ซึ่งกินเวลาไม่กี่นาทีหลังบล็อค) 

                ปกติแล้ว ตามมาตรฐาน จะมีวิสัญญีแพทย์หรือพยาบาลไปเยี่ยมก่อนผ่าตัดและอธิบายถึงข้อดีข้อเสียทั้งการบล็อคหลังและดมยาสลบค่ะ ให้คุณแม่เลือกได้ สามารถพูดคุยและสอบถามได้เต็มที่เลยนะคะ



                คำถามยอดฮิต บล็อคหลังแล้วจะทำให้ปวดหลังถาวรจริงหรือไม่ ?

                ไม่จริงค่ะ การปวดหลังหลังคลอด ก็มักจะปวดเองมากกว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากการบล็อกหลัง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่คุณแม่ต้องให้นมลูกนานๆ ต้องเกร็งหลัง หรือหากนั่งให้นมในท่าที่ไม่เหมาะสม ก็มักจะเกิดการปวดหลังได้ง่ายอยู่แล้ว

                อาการปวดหลังในแม่ท้อง มีหลายสาเหตุ และมักต่อเนื่องไปถึงหลังคลอด 

                1. น้ำหนักที่มากขึ้น

                2. จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนไป  ทำให้คุณต้องปรับตัว  ปรับท่าทางโดยอัตโนมัติ  ซึ่งบางท่าทางอาจทำให้คุณปวดหลังได้

                3. ผลจากฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ชื่อ Relaxin ทำให้เส้นเอ็นของข้อต่อต่าง ๆ ยืดตัว  ทำให้ข้อหลวมโดยเฉพาะบริเวณข้อหลังส่วนล่างและข้อกระดูกเชิงกรานเพื่อเตรียมความยืดหยุ่นขณะมีการคลอด  

                อาการปวดหลังที่เกิดจากการบล็อกหลังต้องมีอาการเจ็บ หรือปวดตรงกลางกระดูกสันหลัง ตรงตำแหน่งที่คุณหมอเอาเข็มจิ้มเข้าไป มักจะเป็นไม่กี่วันหลังคลอดค่ะ (ส่วนใหญ่ไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะเข็มเล็กมากๆ) 

                แต่ถ้าเป็นการปวดหลังที่เกิดจากการนั่งให้นมไม่ถูกวิธี มักจะปวดที่กล้ามเนื้อด้านข้างของกระดูกสันหลังมากกว่า ไม่ได้ปวดตรงกระดูกเหมือนที่เกิดจากการบล็อกหลัง และในระยะยาวก็ไม่ได้มีผลทำให้ปวดหลังอย่างที่มีคนเขาขู่เอาไว้ค่ะ


                ทำไมหมอที่บอกสักคำว่า..จะดมยา !!! 

                - ปกติแล้ว ตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก เคสผ่าคลอดที่รอได้ คือไม่มีภาวะเร่งด่วน เช่น ตกเลือดมาก ลูกขาดออกซิเจน ก็มักนิยมบล็อคหลังค่ะ เหตุผลอย่างที่กล่าวมาแล้ว 

                แต่ก็มีบางกรณีการบล็อคหลังก็เป็นข้อห้ามค่ะ เช่น มีภาวะเลือดแข็งตัวไม่ดี เกร็ดเลือดต่ำ  มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง 

                ในกรณีของเจ้าของกระทู้ คงต้องสอบถามแพทย์ดีที่สุดค่ะ บางที จากประสบการณ์ถึงจะไม่มีข้อห้าม ดิฉันเองก็จะไม่บล็อคในคุณแม่บางท่านค่ะ เช่น 

                - คุณแม่ตัวเล็กหรือเตี้ยมาก (ทำให้กะยาชายาก การชาจะสูงกว่าปกติ)

                - ท้องโตมาก นอนหงายแล้วอึดอัด (ทำให้มีภาวะความดันต่ำ  ชาสูงได้มากกว่าปกติ) 

                - อ้วน บวมมาก (บล็อคยาก ) 

                แต่เชื่อเถิดค่ะ ว่าคุณหมอคงตัดสินใจเลือกวิธีที่ดีที่สุดให้แน่ๆ และเคสที่ฝากพิเศษ ยังไงหมอท่านนั้นจะผ่าเองค่ะ จะไม่ใช้สอนนักศึกษา อย่างมากก็เป็นผู้ช่วยค่ะ 

                อ่านเพิ่มเติมได้ในกระทู้นะคะ Credit :  http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2008/12/N7306665/N7306665.html เขียนโดย คุณหมูเหมียว ค่ะ